การแจ้งตาย

คนตายในบ้าน

ให้เจ้าบ้านหรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่มีคนตายภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าไม่มีเจ้าบ้านให้ผู้พบศพแจ้ง

กรณีตายด้วยโรคหรือชราภาพ ใช้หลักฐาน

หนังสือรับรองการตายจากแพทย์ใบประกอบโรคศิลป์ และบัตรประจำตัวของแพทย์ ( กรณีมีแพทย์รักษาก่อนตาย )
บัตรประจำตัวผู้แจ้ง ( เจ้าบ้านและผู้ได้รับมอบหมาย )

กรณีตายโดยผิดธรรมชาติ เช่น ถูกยิง อุบัติเหตุ ใช้หลักฐาน

ให้ผู้แจ้ง แจ้งต่อสถานีตำรวจท้องที่ที่มีคนตายภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อออกใบชัณสูตรพลิกศพ
สถานีตำรวจจะส่งศพไปยังสถาบันนิติเวชวิทยาเพื่อหาสาเหตุการตาย และออกใบรับรองสาเหตุการตายจากสถาบัน ฯ
บัตรประจำตัวผู้แจ้ง ( เจ้าบ้านและผู้ได้รับมอบหมาย )
ไม่แจ้งตายภายในกำหนด ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

กรณีตายในโรงพยาบาล

บัตรประจำตัวของผู้แจ้ง และหนังสือมอบหมาย
หนังสือรับรองการตาย
สำเนาทะเบียนบ้านที่คนตายมีชื่อ ( คนในพื้นที่ตายในโรงพยาบาล )
นำหลักฐานไปแจ้งการตายต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่โรงพยาบาล นั้นตั้งอยู่

คนตายนอกบ้าน

ให้บุคคลที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีการตาย หรือพบศพแล้ว แต่กรณี หรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย หรือเวลาพบศพ ในกรณีเช่นนี้จะแจ้งต่อพนักงานฝ่าย ปกครอง หรือ ตำรวจก็ได้

บุคคลที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้ได้รับมอบหมายแจ้งต่อนายทะเบียน หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจแห่งท้องที่ที่ตาย หรือพบศพ หรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ในโอกาสแรก
แจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตายหรือพบศพ
ไม่แจ้งภายในกำหนด ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

การแจ้งตายเกินกำหนดเวลา

หมายถึง การที่ไม่ได้แจ้งตายภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย หรือเวลาพบศพ

ให้ผู้มีหน้าที่แจ้งตายนำหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการตายไปแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตาย
นายทะเบียนจะดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 1,000 บาท
นายทะเบียนจะสอบสวนพยานบุคคล เพื่อประกอบการพิจารณารัยแจ้งตายเกินกำหนด

การแจ้งตายในการประสบอุบัติเหตุ

ให้ผู้ที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้พบศพ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายไปแจ้งการตายต่อนายทะเบียน หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแห่งท้องที่ที่ตาย หรือพบศพก่อนหรือท้องที่ที่จะ พึงแจ้งได้ในโอกาสแรกภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย หรือพบศพ.เพื่อออกใบรับแจ้งไว้เป็นหลักฐาน

นำศพส่งสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการตรวจพิสูจน์ศพถึงสาเหตุการตายและออกใบแจ้งการตาย
นำหลักฐานใบแจ้งการตาย และใบแจ้งการตายของสถาบันนิติเวชวิทยาโรงพยาบาลไปแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่พบศพ เพื่อประกอบหลักฐานออกใบมรณบัตร ต่อไป

การแจ้งตายในต่างประเทศ

กรณีคนไทยไปตายในต่างประเทศให้ผู้รู้เห็นการตายไปแจ้งตาย ณ สถานกงสุลไทย หรือสถานทูตไทย ณ ประเทศนั้น ๆ
ในกรณีที่ซึ่งมี การตายไม่มีกงสุลไทย หรือสถานทูตไทยประจำอยู่ให้ใช้หลักฐานการตายที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ซึ่งกระทรวงการ.ต่างประเทศได้แปล และรับรองว่า ถูกต้องเป็นหลักฐานมรณบัตรได้

การเก็บ ฝัง เผา ทำลาย และย้ายศพไปจากสถานที่หรือบ้านที่มีการตาย

เมื่อนายทะเบียนได้ออกมรณบัตรให้กับ ผู้แจ้งไปแล้ว โดยได้กรอกข้อความลงในช่องจัดการศพโดย เก็บ ฝัง หรือเผา ณ สถานที่ใด เมื่อใด ต่อมาต้องการจะเปลี่ยนแปลง ใหม่ให้ดำเนินการดังนี้

หากจะจัดการศพผิดไปจากที่ได้เคยแจ้งไว้ โดยมิได้ย้ายศพไปต่างท้องที่ให้ผู้แจ้งดำเนินการดังนี้
– ผู้แจ้งต้องนำมรณบัตรตอนที่ 1 ไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง แห่งท้องที่ที่ศพนั้นตั้งอยู่
– นายทะเบียนผู้รับแจ้งจะสอบถามแล้วบันทึกการเปลี่ยนแปลงจากการเก็บ ฝัง หรือเผา เป็นการเก็บ ฝัง หรือเผาที่วัดใด เมื่อใด ไว้ด้านล่าง.มรณบัตรตอนที่ 1

หากจะทำการย้ายศพเพื่อจะไปเก็บ หรือฝังในสถานที่อื่น ๆ ซึ่งมิใช่สถานที่เดิมที่แจ้งไว้ในกรณีนี้ต้องดำเนินการดังนี้
– ผู้แจ้งต้องนำมรณบัตรตอนที่ 1 ไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่
– นายทะเบียนผู้รับแจ้งสอบถามแล้วบันทึกการเปลี่ยนแปลงการอนุญาตให้เก็บฝัง จากสถานที่ใดไปสถานที่ใดเมื่อใด
– ผู้แจ้งต้องนำมรณบัตร ตอนที่1ดังกล่าวไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่จะย้ายศพเข้าไปดำเนินการใหม่เพื่อให้นายทะเบียน
ผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ใหม่ได้สอบสวน และบันทึกการอนุญาต ไว้ด้านล่างมรณบุตร ตอนที่ 1 นั้น
– ถ้าเป็นกรณีที่มีข้อความอนุญาตหลายครั้งในฉบับเดียวกันให้ถือข้อความอนุญาตครั้งหลังสุดเป็นหลัก
มรณบัตรสูญหาย บิดา – มารดา หรือผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องขอคัดสำเนามรณบัตรได้ ณ สำนักทะเบียนที่ออกมรณบัตรนั้น หลักฐานประกอบได้แก่ บัตรประจำตัวของผู้ยื่นคำร้อง